สูตรคำนวณต้นทุนชา กาแฟ ต่อแก้ว หมดกังวลเรื่องบัญชีติดตัวแดง

สูตรคำนวณต้นทุนชากาแฟต่อแก้ว

สูตรคำนวณต้นทุนชากาแฟต่อแก้ว    
    
คุณเคยมีปัญหาเหล่านี้กันบ้างไหม? เปิดร้านขายชา กาแฟ มาตั้งนาน มีทั้งลูกค้าขาจรและลูกค้าขาประจำก็ตั้งเยอะ วันๆ หนึ่งสามารถขายได้อีกตั้งหลายแก้ว แต่ก็ไม่รู้ว่าเพราะอะไร ไม่ว่าจะขายได้เยอะแค่ไหน แต่ในบัญชีรายรับรายจ่ายก็ยังคงติดตัวแดงให้ปวดใจกันเป็นแถบๆ?

          หนึ่งในสาเหตุหลักก็คงหนีไม่พ้น ‘การคำนวณต้นทุนต่อแก้ว’ เพราะหากเราไม่มีการคำนวณจะส่งผลให้เราไม่รู้ว่าสินค้าตัวไหนขายดี ไม่รู้ว่าต้องเพิ่มหรือลดวัตถุดิบตัวใดลงบ้าง หรือควรตั้งราคาขายประมาณเท่าใด เพื่อให้คุ้มกับทั้งค่าเช่าร้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าจ้างพนักงาน หรือแม้กระทั่งค่าวัตถุดิบอื่นๆ ที่นอกเหนือจากเมนูชา กาแฟ ของเราอีกด้วย

          จนท้ายที่สุดตัวเลขในบัญชีก็กลายเป็นสีแดง แม้จะพอมีเงินหมุนเวียนให้จับจ่ายใช้สอยกันอยู่บ้าง แต่หากในระยะยาวเมื่อน้ำลด ทุนหมด ตอก็ผุดขึ้นมาคือ กำไรไม่มี เงินหมุนเวียนที่จะใช้ในร้านก็หาไม่ได้ สุดท้ายก็ต้องเลิกกิจการกันไป เพื่อป้องกันความล้มเหลวที่ว่านี้ ลองมาดูสูตรคำนวณต้นทุนต่อแก้วตอนนี้ก็ไม่สายเกินแก้

สูตรคิดต้นทุนอย่างง่าย สูตรเดียวจบทุกเมนูเครื่องดื่ม

สูตรคำนวณต้นทุนชากาแฟต่อแก้ว

          สูตรนี้สามารถใช้ได้กับทั้งเมนู ชา ชานมไข่มุก กาแฟ และอื่นๆ เพราะมีพื้นฐานต้นทุนแบบเดียวกัน แตกต่างกันเพียงแค่วัตถุดิบที่ใช้และวิธีการชงในแต่ละเมนูเท่านั้น

ตัวอย่างการประยุกต์ใช้สูตรคำนวณต้นทุนต่อแก้วกับเมนูชาเขียวนมสด

          ชาเขียวนมสด ขนาด 16 oz. 1 แก้ว ประกอบด้วย

                   1. ใบชาเขียวคั่ว

                   2. นมข้น

                   4. นมสดคาร์เนชั่น

                   5. แก้ว + ฝา

                   6. น้ำแข็ง

สูตรคำนวณต้นทุนชากาแฟต่อแก้ว

วิธีคำนวณ

  1. ใบชาเขียวคั่ว ราคา 350 บาท/กิโลกรัม
  2. การชงชาเขียวนมสด 1 แก้ว ใช้ใบชา 15 กรัม
  3. ดังนั้น 1 ถุง สามารถชงได้ 1000/15 ก. = 66 แก้ว
  4. จากสูตรจะได้ว่า 350 x (15/1000) = 5.25 บาท

สรุปได้ว่า ใบชาเขียวคั่ว 350 บาท/กก. สามารถชงกาแฟได้ 66 แก้ว โดยมีต้นทุนเฉลี่ย 5.25 บาท/แก้ว

  • นมข้น ราคา 24 บาท/กระป๋อง (338 กรัม = 13 oz.)
  • การชงชาเขียวนมสด 1 แก้ว ใช้นมข้น 1 oz.
  • ดังนั้น 1 กระป๋อง สามารถชงได้ 13/1 oz. = 13 แก้ว
  • จากสูตรจะได้ว่า 24 x (1/13) = 1.85 บาท

สรุปได้ว่า นมข้น 24 บาท/กระป๋อง สามารถชงชาเขียวนมสดได้ 13 แก้ว โดยมีต้นทุนเฉลี่ย 1.85 บาท/แก้ว

  • นมสดคาเนชั่น 24 บาท/กระป๋อง (405 ก. = 13 oz.)
  • การชงชาเขียว 1 แก้ว ใช้นมสด 1 oz.
  • ดังนั้น 1 กระป๋อง สามารถชงได้ 13/1 ก. = 13 แก้ว
  • จากสูตรจะได้ว่า 24 x (1/13) = 1.85 บาท

สรุปได้ว่า นมสดคาร์เนชั่น 24 บาท/กระป๋อง สามารถชงชาเขียวนมสดได้ 13 แก้ว โดยมีต้นทุนเฉลี่ย 1.85 บาท/แก้ว

  • แพคเกจ
  • แก้ว+ฝา คิดรวมชุดละ 3 บาท และหลอด 40 บาท/แพค โดยใน 1 แพคมีหลอดอยู่ 250 อัน
  • จากสูตรจะได้ว่า 40 x (1/250) = 0.16 บาท

สรุปได้ว่า แพคเกจทั้งหมด มีต้นทุนเฉลี่ย 3 + 0.16 = 3.16 บาท/แก้ว

  • น้ำแข็ง 40 บาท/กระสอบ
  • 1 กระสอบ ใช้ได้ 40 แก้ว (คำนวณเผื่อละลาย)

สรุปได้ว่า น้ำแข็ง 40 บาท/กระสอบ สามารถชงชาเขียวนมสด ได้ 40 แก้ว โดยมีต้นทุนเฉลี่ย 1 บาท/แก้ว

สูตรคำนวณต้นทุนชากาแฟต่อแก้ว

          ว้าว! ราคาต้นทุนน้อยขนาดนี้ก็หมายความว่าเราได้กำไรอื้อซ่าเลยน่ะสิ? ถ้าคุณกำลังมีความคิดอันตรายแบบนั้นอยู่ล่ะก็โปรดฟังทางนี้ก่อน!

          อย่าลืมว่าราคานี้ยังต้องเอาไปบวกค่าเช่า ค่าน้ำค่าไฟ ค่าพนักงาน ค่าวัตถุดิบอย่างอื่นอีกสารพัด หากจะตั้งราคาขายที่แท้จริง เราต้องนำค่าใช้จ่ายในส่วนนี้บวกเข้าไปในราคาขายด้วย

สูตรคำนวณต้นทุนชากาแฟต่อแก้ว

ยกตัวอย่างเช่น:

          ขายชาเขียวเย็นแก้วละ 60 บาท เราจะได้กำไรต่อแก้ว = 60 – 13 = 47 บาท

          รายจ่าย:

                   ค่าเช่าร้าน 10,000 บาท/เดือน

                   ค่าไฟฟ้า 5,000 บาท/เดือน

                   ค่าน้ำ 500 บาท/เดือน

                   ค่าพนักงาน 3 คน คนละ 9,000 บาท/เดือน รวม 27,000 บาท/เดือน

          รวมต้นทุนคงที่ 42,500 บาท (ยังไม่รวมต้นทุนผันแปรอื่นๆ เลยนะ!)

          ดังนั้นสามารถสรุปได้ว่า ภายใน 1 เดือน เราต้องขายได้ขั้นต่ำ = 42,500/47 = 905 แก้ว/เดือน หรือ วันละ = 905/31 วัน = 30 แก้ว/วัน

          เพื่อให้คุ้มค่ากับต้นทุนคงที่ของเรา ในเมื่อเรารู้ข้อมูลเหล่านี้เเล้ว เราก็จะสามารถเห็นภาพรวมที่ชัดเจนมากขึ้น ทำให้ง่ายต่อการวางแผนการตลาดเพื่อกระตุ้นการขายต่อไปได้ เช่น การทำโปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม เป็นต้น

          นอกจากการวางแผนการตลาดแล้ว เรายังสามารถกำหนดทิศทางของธุกิจของเราได้อย่างมีระบบระเบียบ ไม่สะเปะสะหว่านแหเสี่ยงดวงไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะเรื่องบัญชีรายรับ-รายจ่าย ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญในการกำหนดอนาคตของธุรกิจเรานั่นเอง